Skip to content

พรมมิ ผักมิ หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Bacopa monnieri เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ขึ้นในที่น้ำชุ่ม มีดอกสีขาวหรือม่วงอ่อน เป็นพืชในเขตร้อน ปกติจะใช้เป็นผักรับประทานควบคู่กับการจิ้มน้ำพริก แต่ปัจจุบันเป็นพืชสมุนไพรที่กำลังถูกจับตามองเพิ่มขึ้นในแง่ของการใช้เป็นยาบำรุงสมองและความจำ สรรพคุณของพรมมิตามตำรายาไทยนั้น ใช้เป็นยาขับโลหิต แก้ไข้ ขับพิษร้อน ขับเสมหะ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท และในตำราอายุรเวทของอินเดียพบว่า เป็นเวลากว่า 3,000 ปีมาแล้วที่พรมมิถูกนำมาใช้เป็นยาเพื่อช่วยฟื้นฟูความจำ และบำรุงสมอง

ประโยชน์ของพรมมิ

1. ช่วยบำรุงสมอง เพิ่มความจำ

พรมมิมีสารสำคัญในกลุ่มอัลคาลอยด์อย่าง ซาโปนิน (Saponins) ไตรเทอร์ปีน (Trierpenes) สารบาโคไซด์ เอ (Bacosides  A) สารบาโคไซด์ บี (Bacosides  B) บาโคซัปโปไนน์ดี (Bacosaponines D) ที่ช่วยเพิ่มปริมาณเซลล์ประสาทคอลิเนอร์จิก (Cholinergic Neuron) ซึ่งทำหน้าที่ในการกระตุ้นสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ช่วยให้การทำงานของสารประสาทมีความต่อเนื่อง ช่วยให้การคิด การประมวลผล ความจำดีขึ้น

2. ยับยั้งการทำลายของเซลล์ประสาท

พรมมิช่วยลดการทำงานของเอนไซม์แอซิติลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่จะเข้าไปทำลายเซลล์ประสาทและสมอง รวมทั้งสารบาโคไซด์ (Bacosides) ยังช่วยป้องกันการเกิด Lipid Peroxidation ในสมอง ลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาท และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้

3. ช่วยขยายหลอดเลือดในสมอง

พรมมิช่วยขยายขนาดของการหลอดเลือดในสมอง ทำให้การหมุนเวียนเลือดดีขึ้น ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองได้ดี ส่งผลให้เซลล์สมองแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้ของสมองดีขึ้น

4. ช่วยบรรเทาความเครียด

พรมมิช่วยบรรเทาความเครียด ลดความวิตกกังวล เนื่องจากช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความเครียด และวิตกกังวล

5. ช่วยลดการอักเสบ

พรมมิมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไซโตไคน์ (Cytokines) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์ ก่อให้เกิดการอักเสบหากมีการหลั่งไซโตไคน์ออกมามากเกินไปจะเรียกว่าพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) ส่งผลต่อเซลล์ทำให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวได้

ผลการศึกษาทางวิชาการ

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิต่อระบบประสาท การกระตุ้นการเรียนรู้ และความจำพบว่า สารออกฤทธิ์สำคัญที่มีผลต่อระบบประสาทที่พบในต้นพรมมิเป็นสารในกลุ่ม triterpenoid saponin ที่ชื่อว่า bacoside ซึ่งชนิดที่มีรายงานการศึกษามากที่สุดได้แก่ bacoside A และ bacoside B ในการศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อการฟื้นฟูความจำในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก (อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป) โดยให้อาสาสมัครรับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิขนาดวันละ 300-450 มิลลิกรัม (ประกอบด้วยสารสกัด bacosides อย่างน้อย 40%) พบว่า อาสาสมัครมีทักษะในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทดสอบความจำดีขึ้น และการศึกษาในเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-18 ปี โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิวันละ 1 แคปซูล (ประกอบด้วยสารสกัดพรมมิมาตรฐาน 225 มิลลิกรัม) นาน 4 เดือนพบว่า พรมมิมีผลช่วยเพิ่มพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กได้เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้ยังพบว่าการให้เด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) รับประทานสารสกัดพรมมิ ขนาด 50 มิลลิกรัม (ประกอบด้วย bacosides 20%) วันละ 2 ครั้ง มีผลช่วยให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น และจากการศึกษาความเป็นพิษของพรมมิในอาสาสมัครสุขภาพดี โดยให้รับประทานสารสกัดพรมมิ ขนาด 300 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อ 15 วัน และตามด้วยขนาด 450 มิลลิกรัม/วัน อีก 15 วันไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด แต่มีอาสาสมัครบางรายมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และมีอาการคลื่นไส้ 

นอกจากนี้มีการศึกษาผลในการช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของพรมมิในเด็กในประเทศอินเดีย โดยทำการทดสอบเด็ก 40 คน ที่มีอายุระหว่าง 6-8 ปี ให้รับประทานพรมมิในรูปแบบไซรัป 1 ช้อนชา แบ่งให้รับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน (1 ช้อนชา ประกอบด้วยผงพรมมิ 350 มิลลิกรัม)  พบว่าเด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก และการศึกษาในเด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) จำนวน19 คน อายุเฉลี่ย 8.3 ปี โดยให้รับประทานสารสกัดพรมมิมาตรฐาน (ประกอบด้วย bacoside 20%) ขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าเด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น โดยมีความจำตรรกะ การเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ และผลการทดสอบด้านการพูด และภาษา (sentence repetition test) ดีขึ้น

องค์ประกอบทางเคมี:

องค์ประกอบหลักคือ steroidal saponins ได้แก่ bacoside A และ bacoside B

กลไกการออกฤทธิ์

ยับยั้งแอซิติลโคลีนเอสเตอเรส ( Acetylcholinesterase : AchE) ซึ่งเป็นสารที่ทำลายสารสื่อประสาท เมื่อเซลล์ประสาทจะส่งสัญญาณถึงกัน เซลล์ประสาทจะใช้สารเคมีเป็นตัวส่ง หากในร่างกายมี AchE มากสารตัวนี้จะทำลายสารเคมีที่สื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถติดต่อกันได้ พบว่าผู้ที่หลงลืม ความจำไม่ดี คนชรา ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ จะมี AchE มาก ซึ่งเป็นตัวทำลายสารสื่อประสาท ส่งผลให้เซลล์ประสาทไม่สามารถติดต่อกันได้ จึงหลงลืม

ปริมาณการรับประทานที่แนะนำ

รับประทานสารสกัดพรมมิขนาดวันละ 300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1-2 ครั้ง/วัน

เอกสารอ้างอิง
  1. พิชานันท์ ลีแก้ว. บทความวิชาการ “พรมมิ สมุนไพรรักษาอาการความจำเสื่อม”. จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2555;29(3):16-19.
  2.  Hossain H, Howlader SI, Dey SK, Hira A, Ahmed A. Evaluation of analgesic, antidiarrhoeal and cytotoxic activities of ethanolic extract of Bacopa monnieri (L). British Journal of Pharmaceutical Research. 2012;2(3):188-196.
  3.  Stough C, Downey LA, Lloyd J, Silber B, Redman S, Hutchison C, et al. Examining the nootropic effects of a special extract of Bacopa monniera on human cognitive functioning: 90 day double-blind placebo-controlled randomized trial. Phytother Res 2008; 22(12): 1629-1634.
  4. Roodenrys S, Booth D, Bulzomi S, Phipps A, Micallef C, Smoker J. Chronic effects of Brahmi (Bacopa monnieri) on human memory. Neuropsychopharmacology. 2002 Aug;27(2):279-81. doi: 10.1016/S0893-133X(01)00419-5. PMID: 12093601.